วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำไมถึงให้ลูกเรียนดนตรี

ทำไมถึงให้ลูกเรียนดนตรี
(โดย…เสาวนีย์ สังฆโสภณ นักกายภาพบำบัดผู้ชำนาญการระดับ 7 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล )

ผู้เขียนมีความกังวลใจมาก กับ “นายเกศ “ ลูกชายคนโตซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ (อากาศ) ต้องผ่าตัดใส่ท่อที่หูทั้งสองข้างเมื่อตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่เล็กจนโตก็เพียรเข้าออกหาหมอกินยา จนโตอาการไม่ทุเลาจนลูกได้ 9 ขวบ
ผู้เขียนได้อ่านพบในวารสารดนตรีบำบัดของต่างประเทศว่า เครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น แซกโซโฟน นำมาใช้ประกอบการรักษาโรคทางเดินหายใจได้ คิดชั่งใจอยู่นาน จึงตัดสินใจรวบรวมเงินไปซื้อแซกโซโฟนมือสอง ราคาไม่เบา มาเพื่อให้ลูกหัดเป่าสู้กับโรคภูมิแพ้
จากนั้นลูกก็เริ่มเรียนเป่าแซกโซโฟน โดยมีคุณครูวรเชษฐ์
วรพุทธนันท์ เป็นผู้ฝึกสอน เริ่มโดยฝึกควบคุมการหายใจและการเป่าให้
ถูกหลัก ตามด้วยวิธีเล่นอีกมากมาย แม้ “นายเกศ” จะไม่มีพรสวรรค์และไม่ค่อยจะฝึกซ้อม แต่ก็ยังโชคดีเมื่อไรถึงเวลาเรียนแซกโซโฟน ก็จะเรียนได้สม่ำเสมอด้วยเทคนิคการสอนของครูนิว ที่ให้ความรักและห่วงใยต่อลูกศิษย์ตัวน้อย ให้นายเกศ หันมาสนใจการเป่าแซกโซโฟน และเล่นได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ปอดเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ร่างกายมีแรง มีภูมิต้านทานขึ้นเรื่อย ๆ
เวลาผ่านไป 3 ปี จากเด็กที่ขี้อาย หงุดหงิด ตกใจง่ายกลายเป็นเด็กอารมณ์ดีขึ้น ร่าเริงแจ่มใส พูดมากขึ้น และมีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ที่สำคัญคือกินยาน้อยลง เมื่อไปตรวจเช็คกับคุณหมอเรื่องภูมิแพ้อยู่ทุกระยะก็พบว่าอาการดีขึ้น จำได้ว่าผู้เขียนมีความสุขมากที่สุดวันหนึ่ง คือวันที่ “นายเกศ” เป่าแซกโซโฟน ส่งเข้าประกวดในโครงการเยาวชนดนตรี ชื่อเพลง “Over The Rainbow” ร่วมกับการบรรเลงเปียโนได้ไพเราะจับใจมาก เป็นการถ่ายทอดอารมณ์อันสุนทรีย์ ผ่านทางเสียงเพลง ที่สร้างความประทับใจให้คนเป็นพ่อแม่ได้ปลื้มใจไม่รู้จบ เสียงท่านอาจารย์สุกรี แว่วเข้ามาว่า “ลูกชายยืนอยู่บนขาตัวเองได้แล้ว” การได้ฝึกเป่าแซกโซโฟน มีส่วนทำให้ลูกชายของผู้เขียน มีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะแซกโซโฟนเป็นเครื่องเป่าที่มีเสียงดัง มีอำนาจและวิธีการเป่าก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้น
จากเด็กที่เพื่อน ๆ มองว่าขี้อาย ไม่ค่อยพูด ใครเลยจะรู้ว่าแท้จริง “นายเกศ” เป็นคนคุยเก่งที่สุดคนหนึ่ง และยังมีอะไรดี ๆ ในตัวอีกมากมายที่ใครจะคุยด้วย คงต้องใช้ภาษาดนตรีเปิดสู่โลกกว้างใหญ่ไพศาลคุยกัน จึงจะรู้เรื่อง
เครื่องดนตรีแต่ละประเภท ต่างก็มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ดังนี้
     หีบเพลงปาก (mouth organ) ใช้ปากเป่าโดยเอามือประคอง เป็นการฝึกบริหารปอด กล้ามเนื้อกระพุ้งแก้ม
     ไวโอลิน (violin) ใช้สีโดยเหน็บไว้บนบ่าและเอาคางกด มีเสียงกังวานอ่อนนุ่ม
     กลองชุด ใช้ตีมีเสียงอึกทึก ฝึกการทำงานสัมพันธ์กันระหว่างแขน และขา ทำให้เกิดความแข็งแกร่ง
     ขิม ใช้ตี การเล่นขิมจะทำให้เกิดสมาธิ เมื่อบรรเลงที่ไพเราะด้วยจังหวะที่ช้า จะทำให้เกิดความสงบผ่อนคลาย
     กีตาร์ ฝึกความแข็งแรงของนิ้ว ช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินผ่อนคลายความตึงเครียด มักจะเป็นที่นิยมมากเพราะพกพาไปได้สะดวก และเล่นง่าย อังกะลุง ใช้เขย่ามีเสียงดังอึกทึกช่วยทำให้ข้อมือและแขนมีความแข็งแรง เล่นเป็นกลุ่ม สร้างความสามัคคีในหมู่ผู้เล่น
    เปียโน ใช้นิ้วกดเล่นบนแป้นคีย์ ทำให้นิ้วมือมีกำลัง และฝึกความสัมพันธ์ระหว่างมือทั้งสองข้าง มีระดับเสียงจำนวนมาก ช่วยทำให้เกิดอารมณ์ได้หลากหลาย
     เครื่องเป่า เช่น แซกโซโฟน ช่วยทำให้ปอดมีความจุเพิ่มขึ้นและเกิดความแข็งแรง มีผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ มีเสียงดังช่วยสร้างความมั่นใจได้ เป็นต้น

 ที่มา:http://janly.myreadyweb.com/article/category-30055.html